“ทำไมถึงไม่กลับมารักษาที่ไทยละ?”
“ทำไมถึงไม่กลับมารักษาที่ไทยละ?” เป็นคำถามที่ผมโดนถามอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะเล่าต่อผมจึงขอตอบไว้ตรงนี้เลยนะครับ
โดยเหตุผลหลักๆมีดังนี้ครับ
1.
เหตุผลทางการเงิน – แน่นอนว่าเป็นปัจจัยหลักข้อหนึ่งในการตัดสินใจ
เพราะว่าการรักษาในเคสแบบผมต้องใช้เงินและเวลาจำนวนไม่น้อย
ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่ารักษาตัวที่ญี่ปุ่นจะถูกกว่า
การกลับมารักษาตัวที่ไทยได้อย่างไร ผมเองก็คิดแบบเดียวกันในตอนแรก
ในเคสของประเทศญี่ปุ่นนี้นะครับ นักเรียนต่างชาติทุกคนต้องสมัครประกันสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น
เมื่อไปรับการรักษาจะได้รับส่วนลดเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของราคาเต็ม แต่เพียงคืนแรกตามเหตุการณ์ที่ผมได้เล่าไปนั้นค่ารักษาหักส่วนลดแล้วอยู่ที่ 80000 เยน (ประมาณ 30000 บาท)
โรงพยาบาลแห่งที่สองแม้ว่าแค่จะไปตรวจรักษาค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 35000 เยน (ประมาณ 10000 บาท) และถ้าผมอยู่โรงพยาบาลที่ญี่ปุ่นค่ารักษาจะตกประมาณ 2
ล้านเยนต่อเดือนครับ (ประมาณ 7-8 แสนบาท) พอได้ยินตัวเลขนี้ รู้สึกตัวเองแข็งแรงพอจะหนีออกจากโรงพยาบาลได้ไปชั่วขณะเลยครับ
ถึงตอนนี้เพื่อนผมยังเก็บเอามาแซวผมอยู่เลยว่า
ผมห่วงเงินมากกว่าห่วงชีวิตตัวเองอีกนะเนี่ย
แต่จริงๆแล้วมันมีทางออกให้ผมคือประเทศญี่ปุ่นช่วยเหลือคนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครับ
(จากภาษีของคนญี่ปุ่นนี่แหละครับ) ระบบที่ว่านี้ผู้ป่วยจะจ่ายค่ารักษาอย่างมากแค่ 35000 เยนต่อเดือนไม่รวมค่าอาหาร (อาหารโรงพยาบาลที่ผมพักราคามื้อละ 150
เยนเทียบได้กับราคาน้ำเปล่าหนึ่งขวดเศษๆเท่านั้นครับ) เมื่อรวมค่าอาหารแล้วผมจ่ายโดยเฉลี่ย 45000 เยนต่อเดือนเท่านั้นครับ
เท่าที่ผมทราบมานั้นการกลับไปรักษาที่ไทยนั้นค่ารักษาน่าจะอยู่ที่ขั้นต่ำ
หนึ่งแสนบาทต่อเดือน (ไม่นับกรณีไปโรงพยาบาลเอกชนซึ่งอาจจะพุ่งไปที่เจ็ดหลักต่อเดือนได้)
เทียบกับค่ารักษาทั้งหมดหกเดือนแล้วเบ็ดเสร็จทั้งหมดประมาณ 100000 บาทอีกทั้งภายหลังแล้วได้ค่าชดเชยจากประกันสุขภาพที่ได้ทำไว้ที่ไทย
(จ่ายเฉพาะค่าห้องคืนละ 700 บาท แต่คำนวณรวมเกือบๆ
หกเดือนก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้พอดี)
2.
โรงพยาบาล
– เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นไม่ใช่โรคที่จะพบเจอกันได้ง่ายๆในคนทั่วๆไป
โรงพยาบาลที่รับรักษาโรคนี้มีค่อนข้างน้อย ในกรณีผมซึ่งอยู่ในจังหวัดโออิตะซึ่งในแถบคิวชูมีเพียงแค่ห้าแห่งเท่านั้น
(คิวชูเป็นชื่อภูมิภาคของประเทศญี่ปุ่น)
และแน่นอนว่าผมได้สอบถามเพื่อนที่เรียนหมอหรือ ให้ครอบครัวลองติดต่อผ่านทางคนรู้จักพอสมควรแล้วพบว่าประเทศไทยเองก็มีโรงพยาบาลที่รับรักษาไม่ได้มากมาย
หากไม่นับโรงเรียนแพทย์อย่างจุฬาฯ, ศิริราช หรือ รามาฯ แล้วถือว่าน้อยมากๆเช่นกันประกอบกับมาตรฐานโรงพยาบาลของที่ญี่ปุ่นนี้เองแม้ว่าจะเป็นบ้านนอกแต่คุณภาพการรักษาอาจจะดีกว่าที่ประเทศไทยอีกทั้งหมอที่รับผิดชอบผมอยู่นั้นก็มีประสบการณ์สูงในโรคนี้อีกด้วย
3.
ข้อจำกัดในการเข้าเยี่ยม
– เนื่องด้วยอาการที่ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำจึงควรพักดูแลในห้องปลอดเชื้อ,
ต้องทานอาหารที่ผ่านความร้อนมาและอื่นๆ
ทำให้การเข้าเยี่ยมแทบจะเป็นไปได้ยากในช่วงเวลาส่วนมากของการเข้าโรงพยาบาล
ซึ่งเท่ากับว่าข้อดีของการรักษาที่ประเทศไทยที่จะมีครอบครัวหรือเพื่อนๆมาเยี่ยมเยียนตอนกลับไทยนั้นอาจจะไม่มีผลเลยทีเดียว
(หากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆคนไหนที่เคยถามผมว่าจะมาเยี่ยมแต่ผมบอกไปว่าอาจจะไม่ได้เข้ามาเจอหรือห้ามไม่ให้มา
ก็เป็นเหตุผลนี้แหละครับ แต่ก็ขอขอบคุณอีกครั้งนะครับ)
เนื่องจากว่าผมร่างกายอ่อนแอมากในเดือนแรกของการเข้าโรงพยาบาล
ผมจึงต้องรับการรักษาที่นั่นอย่างไม่มีทางเลือกหลังจากผมชั่งใจดูเหตุผลหลักทั้งหมดดูแล้ว
ทุกอย่างก็สมเหตุสมผล ผมจึงตัดสินใจที่จะรับการรักษาต่อโดยไม่กลับประเทศไทย
แน่นอนว่ายังมีเหตุผลอื่นๆอีกเช่น ภาระด้านการเรียนที่จำเป็นต้องเขียนวิทยานิพนธ์ให้เสร็จจำเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในบางช่วงเวลาหรือ
ต้องไปเข้าคลาสบางวิชาเพื่อให้ได้จำนวนชั่วโมงเรียนที่เพียงพอ
ตาที่มองไม่เห็น
หลังจากผมได้เกิดอาการตาพร่าที่ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนไปก็ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์
อาการเกิดขึ้นมาจากเกล็ดเลือดต่ำอีกเช่นเคย
ทำให้เลือดออกในตาดำและขัดขวางการมองเห็น วิธีการรักษาคือรับประทานยาที่คอยลดปริมาณเลือดที่คั่งอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองเดือน
(ขึ้นอยู่กับคนไข้และอาการ) รู้สึกโล่งใจขึ้นมานิดนึงครับแต่เท่ากับว่ากิจวัตรประจำวันต่างๆหรือวิทยานิพนธ์ที่ยังเขียนค้างอยู่จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
ในช่วงเวลานี้ (ยังมีไข้สูงอยู่) ผมก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาเพลงหรือวิทยุฟัง
นั่งสมาธิหรือโทรศัพท์คุยกับเพื่อนและครอบครัวบ้างเป็นบางเวลาครับ
พอใช้ชีวิตด้วยสภาพนี้ไปเรื่อยๆก็เริ่มเข้าใจว่าหากเป็นอักษรตัวใหญ่ๆก็จะสามารถอ่านหรือเดาความได้
ผมจึงต้องปรับไซส์ของ Skype ฟอนท์ไปที่ 40 หรือซูม Browser 250% เพื่อให้ขนาดใหญ่พอ
รวมไปถึงถุงหรือป้ายยาต่างๆก็ต้องให้พยาบาลเขียนเป็นตัวใหญ่ๆกำชับแยกเป็นยาตามเวลาเช้า
กลางวัน เย็น
อาหารมื้อแรกในรอบหนึ่งเดือน
เมื่อเวลาผ่านไปร่างกายเริ่มสามารถสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง
คุณหมอได้อนุญาตให้ผมทานอาหารมื้อแรกได้ตามที่ผมคอยเฝ้ารออยู่ตลอดเวลา
ความรู้สึกแรกตอนนั้นเท่าที่จำได้ครับ ผมทานไม่หมดครับแม้ว่าอาหารที่ได้จะมีปริมาณไม่มาก
ข้าวต้มมีน้ำกับข้าวอยู่ในอัตราส่วน 70 ต่อ 30 อย่างที่เห็นในรูปข้างต้น
อีกทั้งแทบจะไม่รู้สึกถึงรสชาติของอาหารก็ว่าได้ครับ
รู้สึกว่าอาหารทุกอย่างรสชาติจืดชืดไปหมด แต่มีความสุขมากๆครับ
เพราะรอคอยมาอยู่หนึ่งเดือนเต็มๆ (ผมนับวันและภาวนาเช้าเย็นเลยก็ว่าได้)
ถึงขนาดนั่งค้นคว้าหาข้อมูลวิธีการเพิ่มจำนวนปริมาณของเกล็ดเลือดอยู่ตลอดเวลาด้วยซ้ำไปครับไม่ว่าจะเป็น เมนูอาหารที่ต้องทาน (แต่ผมทานอะไรไม่ได้หนิ)หรือกิจวัตรประจำวัน เข้าใจความรู้สึกของเวลาผมอ่านเจอข่าวหรือบทความที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้แห่ไปรับการรักษาที่ดูไม่น่าเชื่อถือต่างๆจริงๆครับ ความรู้สึกที่ว่าทำยังไงก็ได้เสียอะไรก็ได้ขอให้หายเป็นปรกติก็พอ
ถึงขนาดนั่งค้นคว้าหาข้อมูลวิธีการเพิ่มจำนวนปริมาณของเกล็ดเลือดอยู่ตลอดเวลาด้วยซ้ำไปครับไม่ว่าจะเป็น เมนูอาหารที่ต้องทาน (แต่ผมทานอะไรไม่ได้หนิ)หรือกิจวัตรประจำวัน เข้าใจความรู้สึกของเวลาผมอ่านเจอข่าวหรือบทความที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่ได้แห่ไปรับการรักษาที่ดูไม่น่าเชื่อถือต่างๆจริงๆครับ ความรู้สึกที่ว่าทำยังไงก็ได้เสียอะไรก็ได้ขอให้หายเป็นปรกติก็พอ
และแล้วข่าวดีก็มาถึง
เมื่อใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ
โดยอาหารเริ่มจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ต่อมรับรสก็เริ่มจะทำงานเป็นปกติ
อาการต่างๆก็ดีขึ้นเรื่อยๆเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
เช้าวันจันทร์ถัดมาคุณหมอก็เดินเข้ามาถามแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่า
”พรุ่งนี้กลับบ้านมั้ย”
ผมแอบตกใจนิดๆแต่ตอบไปอย่างดีใจแกมสงสัยว่า
“กลับสิครับ ได้จริงหรือครับ?”
“ได้สิดูจากผลตรวจเลือดเมื่อเช้ามืดแล้วคุณแข็งแรงพอที่จะใช้ชีวิตข้างนอกได้ละ
แต่แค่สี่วันนะเพราะว่าคุณจะไปเที่ยวตอนสงกรานต์ใช้มั้ยล่ะ
ต้องกลับมาภายในวันศุกร์นี้นะ”
“ได้ครับ”
ผมตอบกลับไปพร้อมยิงคำถามต่อไปว่า “แล้วสายน้ำเกลือนี่ทำยังไงครับ”
“ก็ต้องเอาออกเดี๋ยวค่อยกลับมาใส่เข้าไปใหม่รวมไปถึงต้องตรวจไขกระดูกอีกครั้งด้วยนะ
บ่ายนี้จะทำการตรวจพร้อมแกะสายออกเลยละกัน”
คุณหมอพูดพร้อมเอานิ้วชี้กระแทกเบาๆมาที่กลางหน้าอกของผม และเดินจากไปทิ้งให้ผมตกใจและหวาดกลัวอยู่ในห้องคนเดียว
อย่างที่บอกไว้ในตอนก่อนหน้านี้
การตรวจไขกระดูกเป็นการตรวจที่เจ็บมากครับ
ทำเอาความดีใจที่ว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลในวันนั้นปลิวหายไปเกือบหมด
และที่เป็นห่วงไม่แพ้กันคือสัมภาระซึ่งกองอยู่เต็มห้องพักที่โรงพยาบาลไม่รับฝากไว้แม้ระยะห่างแค่เพียงสี่วัน
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ โน้ตบุ้ค เครื่องเล่นเกม หรือแม้แต่จอคอมพิวเตอร์
ผมจึงรีบโทรหาเพื่อนและแจ้งว่าจำเป็นต้องให้มาช่วยขนกลับไปในพรุ่งนี้เช้า
และทยอยเก็บของลงกระเป๋าหรือถุงบางส่วน
ขึ้นเขียง
เมื่อถึงตอนบ่ายคุณหมอก็เดินเข้ามาพร้อมอุปกรณ์ต่างๆและนางพยาบาลผู้ช่วยหนึ่งคน
ทุกๆอย่างเป็นไปตามที่ได้พูดคุยไว้ก่อนหน้านี้รวมไปถึงความเจ็บปวดจากการโดนเจาะกลางหน้าอกด้วยสว่านมือที่ยาชาก็ไม่สามารถจะระงับความเจ็บปวดได้ในช่วงเวลาต่อมา
(จนถึงปัจจุบันนี้ บางคืนผมยังเก็บเอาไปฝันร้ายแล้วตื่นมาด้วยความกลัวหลายต่อหลายครั้ง)
“เรียบร้อยแล้ว
ทีนี้ก็เอามือกดผ้ากอซที่หน้าอกไว้ซัก 15-20 นาทีจนกว่าเลือดจะหยุดไหลนะ”
คุณหมอพูดหลังจากพับเปิดผ้าที่ใช้คลุมจากหน้าของผมและกล่าวต่อไปอีกว่า
“ทีนี้ก็ถึงคราวแกะสายน้ำเกลือที่ขาออกแล้วนะ”
“ขอพักซักพักไม่ได้เหรอครับ
ผมยังไม่หายเจ็บเลยครับ” ผมแอบวิงวอนคุณหมอ
“ไม่เป็นไรๆ
ที่ผมทำการปลดสายน้ำเกลือทีหลังก็เพราะว่าคุณจะได้เจ็บทีเดียวเนี่ยแหละ”
คุณหมอยิ้มแสยะ
“......
ก็ได้ครับ รบกวนด้วยนะครับ” ผมไม่มีทางเลือกนอกจากรับสภาพต่อไป
เนื่องจากผมต้องนอนกดผ้ากอซต่อไป
คุณหมอก็ทำการแกะไหมที่เย็บไว้และหันมาพูดถามกับผมอีกครั้งว่า
“จะให้บอกหลังจากดึงสายออกหรือบอกก่อนดึงสายออกดีครับ?”
“เอ่อ...
ตอนไหนก็ได้ครับ หลังจากดึงเสร็จแล้วก็ได้ครับ” ผมตอบด้วยความหวาดกลัวอาการเจ็บ
“นี่ไง
ออกไปตั้งนานแล้ว”
คุณหมอหัวเราะพร้อมถือสายยางน้ำเกลือที่อยู่ในร่างกายผมมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษๆ
“.............
ขอบคุณนะครับ ” ตอนนั้นผมพูดอะไรไม่ออกครับ เหมือนโดนปั่นหัวนิดๆ
แต่อาการเจ็บจากการตรวจไขกระดูกยังไม่หายไปจึงได้แต่นอนเฉยๆ
(คุณหมอท่านเป็นคนขี้เล่น
ตอนผมโกนผมออกทั้งหมดคุณหมอก็แกล้งจำผมไม่ได้ หลังจากเดินเข้ามาก็ทำเป็นแกล้งตกใจแล้วหันหลังกลับไปชั่วครู่พร้อมพูดว่า
“อ่าว เข้าผิดห้อง ขอโทษที” และอื่นๆอีกมากมาย)
ได้ออกมาแล้วครับ
เช้าวันรุ่งขึ้นผมก็ได้ออกจากโรงพยาบาลและไปพักอยู่ที่บ้านเพื่อนเป็นเวลาสี่วัน
แน่นอนว่าผมไม่ได้ทำอะไรมากมายนอกจากออกตระเวณกินอาหารต่างๆ นอนพัก นั่งคุยและเดินทางกลับไปที่อพาร์ทเม้นท์เพื่อเก็บกวาดเป็นบางเวลา
และที่สำคัญผมได้อาบน้ำแล้วครับรู้สึกสดชื่นมากๆตัวเบาและไม่เหนียวเหนอะหนะอีกต่อไป
ผมไม่ได้เล่าไปในช่วงก่อนหน้านี้ว่าผมได้อาบน้ำแค่สองครั้งในโรงพยาบาลครับ
เพราะเนื่องจากผมยังมีสายน้ำเกลือติดตัวตลอดเวลา เมื่อจะอาบน้ำสระผม
จำเป็นต้องแปะเทปกันน้ำบริเวณสายน้ำเกลือประกอบกับเมื่อเม็ดเลือดขาวมีปริมาณน้อยการอาบน้ำจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ผมจึงถูกสั่งระงับและทำได้แค่เพียงเช็ดตัว ล้างหน้า แปรงฟันเท่านั้นครับ
แต่อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกอย่างชัดเจนคือ
“เย็นหัวมากครับ” เพราะว่าผมทั้งหัวโดนโกนออกไปแล้วจึงต้องใส่หมวกคลุมเวลาออกนอกบ้าน
(ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของประเทศญี่ปุ่นยังถือเป็นฤดูหนาวโดยอากาศเฉลี่ยบริเวณจังหวัดโออิตะอยู่ประมาณ
5-6 องศา)
อย่างไรก็ตาม
ผมมีความสุขมากๆครับ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่มันเป็นสี่วันที่ล้ำค่าจริงๆแค่ได้ออกมาเดิน
หรือทำอะไรต่างๆด้วยตัวเองแล้วทำให้รู้สึกว่ามีความสุขมากๆที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงทุกวินาทีนี้
หรือว่ามรสุมชีวิตลูกใหม่จะเข้าอีก
หนึ่งวันก่อนผมกลับเข้าโรงพยาบาล
คือวันที่ 11 มีนาคม
ระหว่างที่ผมกำลังเก็บของเตรียมตัวกลับเข้าไปรับการรักษาต่อ ผมคิดว่าทุกคนที่อ่านบทความนี้ทราบข่าวว่ามันเกิดอะไรขึ้นวันนั้นแน่นอนครับ
ใช่แล้วครับมันเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเกือบทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริเวณฟุกุชิม่า
โตเกียวและชิบะที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อสองปีก่อนครับ ผมและเพื่อนตกใจมากๆครับในวันนั้นพวกเราไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษโดยได้ทราบข่าวผ่านสื่อของประเทศญี่ปุ่น
และแน่นอนว่าทุกคนได้รับการติดต่อจากเพื่อนๆครอบครัวที่อยู่ที่ไทยกันอย่างไม่ขาดสาย
ในตอนนั้นผมแอบคิดในใจว่า
นี่ผมเพิ่งได้ออกมาจากโรงพยาบาลแค่สี่วันเองนะครับคุณพระเจ้า ถ้าผมจะตายจากสึนามิทั้งทีทำไมต้องส่งผมเข้าโรงพยาบาลก่อนละครับเนี่ย
แต่สรุปแล้วจังหวัดที่ผมอยู่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากการเกิดสึนามินี้เลยครับ
ทำให้การรักษาก็เข้าสู่ช่วงที่สองได้ตามกำหนดการ
To
be continued…
No comments:
Post a Comment