Wednesday, September 11, 2013

ความอยากชั่ววูบนิสัยที่แก้ไม่หาย [Immediate Gratification, the habit that we cannot fix]



            สวัสดีครับ ช่วงนี้ผมเริ่มกลับมายุ่งๆอีกครั้ง บล็อกก็เลยต้องผลัดวันประกันพรุ่งไปหลายต่อหลายครั้ง ครั้งที่แล้วผมบอกไว้ว่าจะมาเล่าเรื่องการดักฟัง แต่ขอเปลี่ยนใจกระทันหันมาพูดถึงนิสัยที่แก้ไม่หายของมนุษย์เราแทนก่อนนะครับ ถ้าแปลเป็นไทยได้ก็ไม่น่าจะห่างไกลกับคำว่า “มักง่าย” ซักเท่าไร ถ้าจะเรียกให้ดูดีขึ้นมาหน่อยคือความอยากชั่ววูบละกันครับ

            ถ้าถามว่านิสัยที่ว่านี้มีข้อเสียยังไง ผมจะขอเก็บไว้ตอบด้านท้ายของบทความนี้ละกันนะครับ ก่อนอื่นลองมาดูตัวอย่างที่เราเห็นกันอย่างชัดๆก่อนเลยครับ

            ตัวอย่างแรกคือบัตรเครดิตครับ หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าเกี่ยวยังไง แต่ Dan Ariely ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชื่อ “Predictably Irrational” หรือชื่อภาษาไทยว่า “พฤติกรรมพยากรณ์” ได้กล่าวถึงรายงานวิชาการเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้บัตรเครดิตซื้อของกับการใช้เงินสดซื้อของอย่างเดียวกัน พบว่าคนที่ใช้บัตรเครดิตจะจับจ่ายใช้สอยมากกว่า [1] (หากใครสนใจผมแนบเปเปอร์ไว้ที่ด้านล่างของบทความละครับ)

            บัตรเครดิตเป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนิสัยนี้ คนเราก็ซื้อของที่อยากได้โดยไม่ได้คิดมากซักเท่าไร แล้วค่อยมาปวดหัวอีกทีตอนใบแจ้งหนี้ถูกส่งมาที่หน้าบ้าน ยิ่งในเคสของคนที่อยู่ในอเมริกาอาจจะหนักกว่าคนไทยหลายเท่าเพราะว่าบัตรเครดิตถูกใช้ซื้อของเกือบๆทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น จ่ายค่ามิเตอร์จอดรถ, ซื้อกาแฟในสตาร์บัค ฯลฯ

            ลองมาดูตัวอย่างถัดไปอันยอดฮิตที่ผมว่าหลายๆคน (รวมทั้งผมด้วย) ต้องเคยทำ นั่นคือการผลัดวันประกันพรุ่งหรือภาษาอังกฤษที่ว่า “Procrastination” นั่นเองครับ ตัวอย่างนี้คงไม่ต้องคิดอะไรมาก มนุษย์เราก็แค่อยากจะสนุก อยากจะสบายก่อนที่เจอกับความลำบาก เท่าที่ผมทราบมาว่าวิธีแก้ก็คงไม่พ้นจากให้มองความสุขหลังจากที่เราทำงานนั้นๆเสร็จ แล้วเริ่มทำงานซะ ดีกว่าที่จะไปมองว่างานนั้นยุ่งยากแล้วผลัดไปทีหลังแทนนะครับ

            ตัวอย่างสุดท้ายที่ผมจะยกขึ้นมาคือ Privacy กับ Security ครับ ช่วงนี้ผมต้องขออนุญาตวกวนอยู่ที่สองหัวข้อนี้บ่อยหน่อยนะครับ เพราะว่ากำลังทำวิทยานิพนธ์ในด้านนี้อยู่ ไอเดียส่วนใหญ่ที่ได้มาเขียนบล็อกก็วนไปมาอยู่แถวๆนี้เท่านั้นแหละครับ เวิ่นเว้อมาอยู่นานขอวกกลับมาที่ตัวอย่างนะครับ

            คนเราส่วนใหญ่นั้นไม่ค่อยให้ความปลอดภัยด้านข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัวของตัวเองซักเท่าไร อย่างเช่นตั้งรหัสผ่านง่ายๆ หรือแม้แต่การไม่ลงทุนเงินงบประมาณในระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัท จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่มีความเสียหายแล้วค่อยมาเครียด ถ้าเรียกเป็นสำนวนไทยก็ต้องบอกว่า “วัวหายล้อมคอก” แต่ในตัวอย่างที่ว่านี้ดูค่อนข้างจะอันตรายและอาจจะส่งผลยาวนานกว่าแค่วัวฝูงหนึ่งที่หายวับไปเสียอีกครับ

            ซ้ำแล้วยังมีงานวิจัยที่ตอกย้ำนิสัยที่แก้ไม่หายนี้ของมนุษย์ด้วยว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้รับการทดลองยินดีที่จะแลกรหัสผ่านของคอมพิวเตอร์กับช็อคโกแล็ตหนึ่งแท่ง [2] ซึ่งความเสียหายอาจจะแผ่เป็นวงกว้างได้ไม่ยากถ้ารหัสผ่านที่ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ของบริษัท แล้วถ้าคนร้ายหรือเข้าไปในเครือข่ายได้ความเสียหายอาจจะถึงขั้นรุนแรงเลยทีเดียวละครับ เช่นแพร่กระจายไวรัส หรือเจาะโพรงเครือข่ายไว้โจมตีต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละบริษัทด้วยเช่นกัน

            อ่านมาจนถึงตอนนี้แล้วผมคาดว่าผมคงไม่ต้องสรุปถึงข้อเสียต่างๆอย่างที่ได้สัญญาไว้แล้วละสินะครับ ข้อเสียจากนิสัยนี้มีมากจริงๆครับ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายภายหลังด้านข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัว หรือผลเสียที่คาดไม่ถึงหรือไม่ทันได้คิดอย่างยอดค่าใช้จ่ายบนบัตรเครดิตตอนสิ้นเดือน หรือว่ากองงานที่สุมหัวเต็มโต๊ะ

            สุดท้ายแล้วนิสัยนี้เป็นนิสัยที่ยากจะแก้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ซะทีเดียวนะครับ ลองค่อยๆปรับค่อยๆแก้กันไป น่าจะมีอะไรดีขึ้นแหละครับ ลองที่จะเปลี่ยนรหัสผ่านให้มันปลอดภัยขึ้น, ทยอยๆทำงานที่ค้างไว้ หรือคิดก่อนจับจ่ายใช้สอยดูครับ วันนี้ขอลาไว้เท่านี้ก่อนละครับ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านนะครับ

            ก่อนจากไปคุณคิดยังไงกับเรื่องลดภาษีรถคันแรกบ้างครับ หรือมีตัวอย่างดีๆอื่นๆเกี่ยวกับนิสัยนี้ ลองคอมเม้นท์ให้ความเห็นกันมาดูได้ครับ

References

[1]
B. News, "Passwords revealed by sweet deal," BBC News, 20 April 2004. [Online]. Available: http://news.bbc.co.uk/2/hi/technology/3639679.stm. [Accessed 11 September 2013].
[2]
E. Magen, C. S. Dweck and J. J. Gross, "The Hidden-Zero Effect: Representing a Single Choice as an Extended Sequence Reduces Impulsive Choice," Psychological Science, vol. 19, no. 7, pp. 648-649, 2008.

Monday, August 26, 2013

อะไรคือ Privacy ใครจะไปสนใจ [What is the ‘Privacy’ and who cares?]



มาต่อกันอีกตอนนะครับว่าทำไมเราต้องมาสนใจด้วยหละ ใครอยากรู้ก็รู้ไปสิครับ ดีซะอีกได้โฆษณาที่น่าสนใจและเกี่ยวกับเรากว่าเดิม

ถ้าถามว่าทำไมเราต้องสนใจมันด้วยหละ ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกฏหมาย ผมขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งนะครับ

สมมติว่าสมชายวางแผนที่จะขอแต่งงานกับสมหญิง อยากจะวางแผนเซอร์ไพร์สให้โดยการค้นหาร้านอาหาร ดูราคาแหวนหรือของขวัญต่างๆ ออกปากชวนเพื่อนๆมาเป็นสักขีพยานเรียบร้อย ทุกคนทำตามแผนด้วยดี แต่ทว่าสมหญิงบังเอิญไปเห็นในเพจร้านอาหารหรูที่สมชายโพสถามโปรโมชั่น หรือเอาง่ายๆเพื่อนที่สมชายชวนไปดูทำเลร้าน Tag ชื่อสมชายเข้าไปใน Foursquare

ย้อนกลับมาถามว่าที่สมชายทำไปหลายๆอย่างเป็นเรื่องเสียหายหรือไม่ แล้วการที่สมหญิงรู้ข้อมูลหลายๆอย่างรวมกันเป็นเรื่องร้ายแรงรึเปล่า ก็ขอให้เก็บไปคิดเอาดูนะครับว่าความเป็นส่วนตัวในกรณีนี้เป็นยังไงบ้าง

นอกเหนือจากนั้น กรณีบางเรื่องอาจจะไม่จบแค่ที่ว่าสมหญิงไม่เซอร์ไพรส์ อาจจะเกิดเรื่องเวอร์ๆอย่างเช่น มิจฉาชีพเห็นลู่ทางที่ว่าสมชายต้องมาร้านอาหารพร้อมแหวนเพชรมีค่าอยู่อาจจะดักปล้นสมชายเพื่อแย่งชิงแหวนบริเวณใกล้ๆ ร้านอาหาร หรืออื่นๆไป (ทุกอย่างเป็นแค่เรื่องสมมตินะครับ)

เท่าที่ผมทราบมาไม่ว่าจะเป็นการสมัครงานในต่างประเทศต่างๆ บริษัทจะลองเสิร์ชข้อมูลเพื่อให้รู้จักเรามากขึ้นมากกว่าเดิม ลองคิดดูสิครับถ้าหากบริษัทเสิร์ชชื่อคุณในทวิตเตอร์แล้วเจอแต่ทวีตที่คุณเอาแต่บ่นหรือตำหนิบริษัทก่อนหน้า หรือหากรูปเฟสบุ้คของคุณเป็นรูปประหลาดๆ คุณอาจจะตกรอบไปตั้งแต่ยังไม่ได้มีโอกาสอ้าปากแสดงความสามารถในห้องสัมภาษณ์เลยก็ว่าได้ครับ

ยิ่งในยุคสมัยนี้ข้อมูลยิ่งเพิ่มมาขึ้นได้ตลอดเวลา ข้อมูลจากโทรศัพท์หรือแม้แต่อุปกรณ์วัดการเผาผลาญหรือนับจำนวนก้าวเดินก็ทำให้เราเหมือนถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ไม่ว่าเราจะเดินไปไหนมาไหน ถ้าหากรู้วิธีก็สามารถตามหาพวกเราในยุคสมัยนี้ได้ไม่ยากเย็นมากนัก เพราะฉะนั้นคุณคิดว่าคุณควรจะหันมาสนใจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของคุณรึเปล่าครับ

สุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไป ผมสังเกตุจากเพื่อนๆผมและผมคิดว่าหลายๆคนไม่ทราบว่า Facebook มีฟังก์ชั่นที่จะจำกัดข้อมูลให้แค่กลุ่มเพื่อนบางกลุ่มสามารถเห็นโพสแต่ละโพสของเราอย่างแตกต่างกันได้ด้วย อย่างเช่นผมเองจัดกลุ่มเพื่อนคนต่างชาติไว้อีกกลุ่มหนึ่ง และเวลาโพสภาษาไทยก็ไม่ให้พวกเขาได้เห็นโพสเพื่อนเห็น

ฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์มากเลยนะครับ คนรู้จักผมบางคนถึงกับต้องสมัครหลายๆไอดีเพื่อแยกแยะเพื่อนที่ทำงานกับเพื่อนสนิท แต่ความจริงคือคุณก็สามารถควบคุมมันได้ด้วยฟังก์ชั่นดังกล่าวที่ว่านี้ได้นะครับ ลองเสิร์ชหาข้อมูลและวิธีการใช้ดูครับ

ไว้ตอนต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดักฟังหรือ Wiretap ต่อให้นะครับ หากท่านได้สนใจเชิญมาติดตามตอนต่อไปได้สัปดาห์หน้าครับ สุดท้ายนี้ถ้าหากท่านใดอยากจะอ่านเกี่ยวกับการรักษาความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติม ผมแนะนำลิงค์ด้านล่างนี้ดูได้ครับ


ปล. บางท่านอาจจะได้ยินมาว่าต่างประเทศหรือผ่านทางหนังว่ารัฐบาลประเทศอย่างอเมริกาสามารถสอดส่องข้อมูลได้อย่างปกติทั่วไป เรื่องนี้ผมขอไม่ออกความเห็นครับ เพราะว่าไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจัง แต่คาดว่าอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แม้ว่าข้อความจะเข้ารหัสอยู่ก็เถอะครับ

Saturday, August 24, 2013

อะไรคือ Privacy ทำไมถึงมีคำนี้ได้ [What is the ‘Privacy’ and why does it exist?]


            เนื่องด้วยข่าวที่ผมอ่านในช่วงไม่นานมานี้ รัฐบาลของไทยออกมากล่าวว่า “จะสอดแนมอ่าน Line ของทุกคนได้” เป็นเหตุให้น่าฉุกคิดเรื่องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวหรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ‘Privacy’ นี่เองครับ อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนหน้านี้ หัวข้ออย่าง Privacy ก็เป็นหนึ่งในสาขาของ Security เช่นกันเหมือนกันครับ และผมกำลังทำการค้นคว้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้อยู่เช่นกัน จึงอยากจะเขียนเล่าในเชิงเนื้อหาดูบ้าง


             ก่อนจะเล่าเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ผมขอแสดงความเห็นจากมุมมองกับข่าวข้างต้นที่ว่านี้หน่อยนะครับ ปกติแล้วการกระทำข้างต้นน่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เหตุผลมีสองประการใหญ่ๆครับ

ข้อแรก ข้อความทั้งหมดในแอพพลิเคชั่นอย่าง Line ถูกเข้ารหัสไว้ระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน แม้ว่าทางประเทศไทยจะควบคุมข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตได้ ถ้าหากไม่มีรหัสอย่างถูกต้องก็ไม่น่าจะสามารถอ่านข้อความได้ครับ

ข้อสอง ตามปกติแล้วบริษัทในบริการต่างๆในอินเคอร์เน็ต Social Network จะไม่ยอมเผยแพร่ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โดยเด็ดขาด นอกเสียจากว่ามีหมายศาล ซึ่งในเหตุการณ์คล้ายๆกันนี้โครงการ PRISM ของอเมริกาก็ถูกบริษัทดังๆออกมาประกาศว่ารัฐบาลไม่สามารถล็อกอินอ่านข้อมูลได้ง่ายๆเหมือนกับดังที่โครงการกล่าวไว้ (ส่วนใหญ่จะถูกระบุไว้ใน Privacy Policy ของแต่ละบริษัทแล้ว)

รวบรวมข้อมูลมาทั้งสองข้อก็ยิ่งบ่งบอกได้ว่าเป็นไปได้ยากครับ ยิ่งบริษัทอย่าง Line ไม่ใช่บริษัทภายใต้การควบคุมของประเทศไทยเสียอีก หรือคาดว่าถ้าหากเกิดขึ้นจริงคนไทยก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมอื่นแทน ทำให้รัฐบาลก็คงต้องเดินเรื่องอีกครั้ง (ภายหลังผมได้เห็นข่าวที่ทางบริษัทออกมาประกาศว่ารัฐบาลต้องมีหมายศาลของประเทศญี่ปุ่นก่อนถึงจะสามารถอ่านข้อมูลดังที่กล่าวได้)

ออกนอกหัวข้อไปพอสมควรกลับมาที่ความเป็นส่วนตัวดีกว่าครับ ความเป็นส่วนตัวที่ว่าคือข้อมูลเกี่ยวกับพวกเราๆ ผู้ใช้บริการทั่วๆไปเนี่ยแหละครับ ทั้งข้อมูลการใช้จ่ายซื้อของ, การค้นหาข้อมูล, โซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ฯลฯ ในกรณีส่วนใหญ่ที่บริษัทต่างๆรวบรวมข้อมูลก็เพื่อเหตุผลเดียวคือผลประกอบการทางธุรกิจนั่นเองครับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ว่าบริษัทสามารถรู้ว่าคุณชอบดูบอล ไม่เคยพลาดทุกแมตซ์ในหนึ่งฤดูกาลของทีมอย่างเชลซี ผ่านข้อมูลอย่างเช่นการซื้อของที่ระลึกเชลซีผ่านอีเบย์, ข้อมูลเสิร์ชการจองตั๋ว หรือคุณกดไลค์รูปที่โพสเรื่องเชลซีหรือรีทวีตเกี่ยวกับเชลซี

พอบริษัทจะออกสินค้าเพื่อมาล่อใจให้คุณซื้อก็จะส่งโฆษณาแคมเปญอย่างเช่น เติมน้ำมันวันนี้ได้ลุ้นเชียร์เชลซีติดขอบสนามมาให้คุณ เวลาคุณเล่นเน็ตไปตามเว็ปต่างๆ

ถ้าเทียบกับคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะได้โฆษณาผ้าอ้อมแบบใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสลับตำแหน่งกัน คุณก็จะเลื่อนผ่านๆไปโดยที่บริษัทจะเสียค่าโฆษณาไปโดยใช่เหตุนั่นเองครับ เนื่องจากตอนเดียวอาจจะยาวผมขอตัดไปอีกตอนพรุ่งนี้ต่อแทนนะครับ

Monday, August 5, 2013

ฮาจิเมะมาชิเตะ ไอแอมยัวร์ล่าม [Hajimemashite, I am your La-am (ล่าม) ]

            เคยมั้ยครับคิดว่างานบางอย่างไม่เห็นจะยากเท่าไร แต่พอลงมือทำจริงๆกลับยากกว่าที่คิดไว้เยอะ ครั้งนี้ผมพยายามที่จะแปลบทความก่อนหน้านี้ของตัวเองให้เป็นภาษาอังกฤษเพราะว่าอยากให้เพื่อนๆต่างชาติได้อ่านเหมือนกันบ้าง แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย ทั้งกินเวลามากกว่าจะแปลสิ่งที่เขียนไว้เป็นภาษาไทย แถมยังไม่สามารถสื่อความหมายที่ต้องการจะสื่อได้อย่างที่ตั้งใจอีกด้วย

ขณะเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมเคยได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครล่ามแปลภาษาอยู่ระหว่างเรียนมาสองครั้งด้วยกัน ทั้งแปลระหว่างภาษาไทยกับญี่ปุ่น และแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น อีกทั้งได้ลงเรียนวิชาฝึกหัดล่ามในตอนปีสุดท้ายด้วยซ้ำไป  

อีกครั้งที่ผมก็ยังเป็นแค่ล่ามมือสมัครเล่น เป็นเป็ดที่ว่ายน้ำไม่ได้เก่งเท่าปลา เป็นเป็ดที่บินขึ้นได้ไม่สูงเท่านก เป็นเป็ดที่ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านล่ามอาชีพโดยตรง ถ้าหากมีความผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมาล่วงหน้าด้วยครับ



ถ้าถามว่าการแปลภาษามันยากยังไง ก็ต้องบอกว่าอย่างแรกเลยคือภาษาแต่ละภาษามีความแตกต่างในตัวของมัน คำบางคำก็มีความหมายที่ไม่สามารถแปลตรงตัวเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ (จนถึงบัดนี้ยังมีคำที่ผมใช้ประจำในภาษาญี่ปุ่นแต่ผมยังไม่สามารถแปลออกเป็นคำภาษาไทยได้ด้วยซ้ำไป) นี่ยังไม่นับวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในแต่ละประเทศที่ยากจะแปลออกมาได้

ยกตัวอย่างเช่น ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “โอะซึคาเระ” คำนี้แปลเป็นไทยตรงตัวได้ว่า “เหนื่อยหน่อยนะครับ” อาจจะดูเป็นคำไม่มีอะไรในภาษาไทย แต่ภาษาญี่ปุ่นเป็นคำเชิงให้กำลังใจ ใช้เวลาทำกิจกรรมเสร็จ (กีฬา, ปาร์ตี้, ฯลฯ) ใช้เวลาคู่สนทนาดูเหนื่อยล้า ใช้ทั้งเวลาพนักงานบอกลากันก่อนกลับบ้านหลังเลิกงาน หรือแม้กระทั่ง ใช้ทักทายหรือเปิดบทสนทนากับเพื่อนร่วมงาน ทั้งยังมีคำที่แตกต่างอย่างระดับความสุภาพของสรรพนามและอื่นๆอีกมากมายอีกด้วย

นอกเหนือจากนั้นในกรณีของภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยนั้น การเรียงรูปประโยคแตกต่างกันอย่างได้ชัดเจน ทำให้บางครั้งเวลาแปลตามตัวอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ หลายๆท่านอาจจะเคยทราบโดยคร่าวๆว่าภาษาไทยจะเรียง ประธาน กริยา กรรม แต่ประโยคภาษาญี่ปุ่นจะเรียงเป็น ประธาน กรรม กริยา ยกตัวอย่างเช่น จะพูดว่า “ผมเขียนบล็อก” ต้องพูดว่า “ผมบล็อกเขียน” ในภาษาญี่ปุ่นแทนครับ

เกริ่นมานานละครับ ขอเล่าเรื่องในตอนที่ได้รับโอกาสเป็นล่าม ต้องบอกว่าผมมีความมั่นใจทางด้านภาษาญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง (ในครั้งแรกที่เป็นคือสามปีหลังจากเริ่มใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นแล้ว) แถมตอนที่เป็นล่ามที่ว่าไม่ต้องแปลอย่างเป็นทางการที่ต้องใช้ศัพท์เฉพาะซักเท่าไร

ในวิชาล่ามที่ได้กล่าวไปข้างต้น วิธีโดยที่ผมถูกสอนมาก็คือ
1.      หาข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์คร่าวๆไว้ก่อน รวมถึงซ้อมคำที่อ่านยากๆ
2.      ให้คว้ากระดาษมาจดคีย์เวิร์ดคำสำคัญๆ ที่จำเป็นจะต้องแปล พยายามแบ่งกระดาษออกเป็นสองฝั่ง (เพื่อให้เขียนได้เยอะ) ใช้ตัวย่อบางคำซ้ำๆ เขียนตัวใหญ่ๆ (ทำให้เขียนได้เร็วกว่าตัวเล็กๆ)
3.      ถ้าหากไม่แน่ใจก่อนแปล ต้องถามผู้พูดในแน่ใจ เสียเวลาซักนิดแต่ก็ดีกว่าแปลแบบผิดๆไป

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือ พยายามมีสติให้รู้ว่าเราต้องแปลจากภาษาอะไรเป็นภาษาอะไรอยู่ตลอดเวลาครับ ผมเคยเจอเหตุการณ์หนึ่ง

ครั้งหนึ่งผมเป็นล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นผมล้าหรือว่าอย่างไร ผมหันไปพูดประโยคที่ผมต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษแต่กลับพูดภาษาญี่ปุ่นตรงๆตัวไปเฉยๆ

จนท่านหัวเราะและเตือนผมกลับมาว่า “Can you switch your mode? I cannot understand Japanese.

และเหตุการณ์ในกรณีคล้ายกันนี้เกิดซ้ำอีกหลายครั้ง แม้แต่ในชีวิตประจำวันโดยบ่อยครั้งผมพูดภาษาอังกฤษแต่ยังใช้ศัพท์บางคำเป็นภาษาญี่ปุ่นในประโยค หรือแม้แต่ภาษาไทยผสมกับภาษาอื่นๆ

ผมเองก็แอบหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสขัดเกลาความสามารถด้านนี้ให้ลื่นไหลไปเหมือนใช้วุ้นแปลภาษาของโดราเอมอน เพื่ออนาคตของตัวเอง ไว้ใช้ในการติดต่องานหรือว่าแปลหนังสืออ่าน

Monday, July 22, 2013

อะไรคือซิเคียวริตี้ เกี่ยวกับกล้องวงจรปิดรึเปล่า [Information Security?!? Is it about watching security cams?]


            หลายๆคนอาจจะทราบหรือไม่ทราบว่าขณะนี้ผมกำลังเรียนต่อระดับป.โท อยู่ในสาขาวิชาที่ชื่อว่า Information Security ในก่อนหน้านี้ผมนึกว่าคำๆนี้จะเป็นที่รู้จักอย่างทั่วๆไป แต่ผิดคาดครับเมื่อผมบอกว่าผมกำลังเรียนสาขานี้อยู่กับเพื่อนของผม

บางคนทำหน้างง ยังถามผมกลับด้วยความสงสัย (ไม่รู้ว่าจะแซวจริงรึเปล่า) ว่า “ไปเรียนเป็นยามเหรอเพื่อน....”

“เฮ้ย ไม่ใช่ละครับ” ผมต้องรีบตอบกลับและอธิบายให้เข้าใจอย่างทันที



            บทความนี้ผมอยากจะอธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับคำว่า Information Security มันคืออะไรและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราๆ อย่างไรบ้างครับ

             Security ที่ว่านี้แปลตรงๆเป็นภาษาไทยได้ว่า ความปลอดภัยถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่พวกเราใช้กันอยู่ก็คือ Password หรือรหัสผ่านครับ ซึ่งผมเรียนเกี่ยวกับวิธีการป้องกันข้อมูลต่างๆ ในโลกดิจิตอลในขณะนี้

            ความปลอดภัยของข้อมูลนั้น เกี่ยวโยงหลายๆด้านรวมอยู่ในสาขาวิชาที่ชื่อว่า Information Security ซึ่งถ้าหากจะให้บรรยายทั้งหมดก็คงจะยาวแหละครับ

ในบทความนี้ผมขอไม่อธิบายความรู้เชิงลึกไว้นะครับ ถ้าหากสนใจผมจะขอไปเรียบเรียงข้อมูลก่อนโพสในบล็อกถัดไปแทนนะครับ

นอกเหนือกจากนี้ เพื่อนๆหลายคนได้ถามผมต่อว่า “เรียนเป็นแฮกเกอร์เหรอ สอนแฮกหน่อยสิ”

ผมต้องขอตอบคำถามนี้ให้ทราบก่อนด้วยความเห็นส่วนตัวของผมคือ ผมได้เรียนวิธีการเช่นนั้นมาบ้างในปฏิบัติครับ อีกทั้งเพื่อนๆผมบางคนก็เคยเป็นแฮกเกอร์ก่อนมาเรียนด้วยซ้ำไป

แต่ทว่าระบบในสมัยนี้ค่อนข้างยากที่จะเจาะระบบเข้าไป ยิ่งถ้าหากเจ้าของข้อมูลสร้างตาม Standard ที่กำหนดไว้นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (เว้นแต่จะใช้รหัสผ่านที่ง่ายต่อการเดา หรือใช้วิธีการเข้ารหัสที่ล้าสมัย)

ระบบวินโดว์ที่หลายๆคนชอบตำหนิว่าออกแบบได้แย่และหนีไปใช้แมคกันหมด ผมต้องบอกว่าวินโดว์ออกแบบระบบป้องกันมาได้อย่างดีจนน่าทึ่งสำหรับผมเลยครับ แต่ทว่าการรักษาความปลอดภัยอาจจะไม่เต็มที่ ถ้าหากท่านใช้วินโดว์ของปลอมและไม่ได้อัพเดทอย่างตลอดเวลา (ขออนุญาตอย่าดราม่าหรือทำสงครามค่ายนะครับ ผมขอเป็นกลาง)

               อย่างที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นว่าในสาขาของ Security นั้นมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ Policy, การออกแบบการเข้ารหัส, การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้, การออกแบบระบบ, การตรวจสอบหลักฐานและอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งใช้ความรู้หลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านคณิตศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์ ฯลฯ



สุดท้ายนี้หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแฮกเกอร์หรือเพื่อนๆของผมมีนิสัยเป็นอย่างไรบ้าง ผมขอเล่าตัวอย่างบางส่วนที่ผมเจอแล้วรู้สึกว่าพวกเขาแปลกกว่าคนทั่วไปนะครับ

-         อาจารย์ N อาจารย์ในคณะ

ตอนแนะนำข้อมูลทั่วๆไปก่อนเริ่มคลาส

ท่านกล่าวว่า “ห้ามอัพโหลด เอกสารหรือไฟล์พาวเวอร์พอยท์ขึ้นโดยเด็ดขาด” (ถึงตอนนี้ยังปกติ)

แต่ท่านกล่าวทิ้งท้ายต่อไว้ว่า “ถ้าหากผมเจอมันอยู่บนอินเตอร์เน็ต ผมสามารถแกะรอยได้แน่นอน"

"และคุณจะต้องลำบากแน่”

-       นาย S เพื่อนในกลุ่มวิชาหนึ่ง

นัดฉลองที่บ้านเพื่อนดูหนังเกี่ยวกับแฮกเกอร์เป็นกลายฉลองที่ทำโปรเจคเสร็จ

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดจากผมแซวเล่นๆไปว่า “นี่หนังเก่าแล้วหนิ ไปโหลดบิทมาใช่มั้ย”

นาย S ตอบกลับมาอย่างน่าตาเฉยว่า “เออ แต่ว่าจะดูหนังแฮกเกอร์ทั้งที เราเลยจัดการแฮกเข้าไวไฟคนแถวนี้ แล้วใช้โหลดมาแหละ" 

"พวกเราไม่โดนตำรวจจับหรอก ไม่ต้องห่วง"เพื่อนเสริมต่อ 

"................"

ปล. (นาย S สามารถแฮกผ่านไวไฟที่เข้ารหัสแบบ WPA2 ซึ่งในขณะนี้เป็นที่ยอมรับว่าปลอดภัยด้วยซ้ำไป)

-         นาย H เพื่อนชาวญี่ปุ่น

ขณะขับรถกลับจากโรงหนังและกำลังจะส่งผมที่บ้า

ผมสังเกตุเห็นว่า GPS บอกทางไปอีกทางจากบ้านของเขา เลยแย้งไปว่า “นี่มันบอกมั่วหนิหว่า”

แต่นาย H กลับบอกมาว่า “ป่าวเลย เราตั้งบ้านของเราไว้ตรงนั้นเองแหละ" 

"อ่าว ทำไมหล่ะ"

"เผื่อรถโดนขโมยโจรจะได้ไปบ้านเราไม่ได้”

-         นาย C เพื่อนชาวไต้หวัน

ผมถามไปตอนพึ่งไปอเมริกาใหม่ๆพร้อมกัน

ผมถามไปว่า “นายๆ จะทำสัญญากับอินเตอร์เน็ตกับที่ไหนรึ”

นาย C กลับตอบกลับมาว่า “เดี๋ยวหาไวไฟที่ใช้ WEP ของชาวบ้านแล้วแฮกเอา (การเข้ารหัสไวไฟแบบที่ไม่ปลอดภัย) ประหยัดดี”

“มันใช่เหรอเพื่อน......”

ปล. นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเขียนบทความแบบนี้ ขาดตกบกพร่องอย่างไร รบกวนขอคอมเม้นท์ติเตียนด้วยครับ ขอบคุณครับ

Wednesday, July 10, 2013

Perk Series Epilogue: Whatever are left over from a cancer perk

บทความนี้จะเป็นบทความชิ้นสุดท้ายที่ผมจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเองละครับ (อย่าพึ่งเบื่อกันนะครับ) ในครั้งนี้ผมจะเล่าถึงด้านดีๆจากโรคนี้บ้าง หลายคนอาจจะมองว่าผมดูโชคร้าย น่าสงสาร ในตอนแรกผมก็คิดแบบนั้นเหมือนกันครับ ช่วงที่ป่วยอยู่ผมเคยอ่านบันทึกของคนที่หายป่วยจากโรคร้ายต่างๆ และสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยมากที่สุดคือคนส่วนใหญ่กล่าวไว้ว่า 


พวกเขาจะไม่ยอมแลกประสบการณ์ตอนป่วยแบบนั้นกับสิ่งอื่นๆในชีวิต” 


             ผมในตอนนั้นคิดว่ามันบ้ามากเกินไปแล้วครับ ผมยอมแลกทุกสิ่งทุกอย่างกับสภาพในตอนนั้นเพื่อให้ตัวเองหายป่วยให้เร็วที่สุดด้วยซ้ำไปครับ

แต่ทว่าในตอนนี้ผมกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ชื่อว่ามะเร็งมันไม่ใช่กรรม มันก็มีด้านที่ดีของมันเช่นกัน ผมขอเลือกใช้คำว่า “Cancer Perk” (ผมติดใจคำนี้จากหนังสือชื่อ “The Fault In Our Stars” ของ John Green

            ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากอาการป่วยและมันติดกับตัวผมตั้งแต่เวลานั้นมาตลอด ผมจึงอยากจะมาเล่าให้ทุกคนเข้าใจถึงเหตุผลดังกล่าว ที่ทำไมทำให้ผมมองประสบการณ์นี้ล้ำค่ามากที่สุดในชีวิตเหมือนกับคนอื่นๆครับ

ก่อนจะเล่าต่อไปผมขอออกตัวก่อนนะครับว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่บันทึกหรือความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น ผมไม่ได้อยากจะเขียนบทความเพื่อจะตักเตือนหรือสั่งสอนใคร แค่อยากจะแชร์มุมมองประสบการณ์ในแบบของผมเท่านั้น 


Cancer Perk ทำให้....

ผม ... รู้จักการมองโลกทุกอย่างในแง่ดี

            ก่อนหน้าที่ผมจะล้มป่วย ผมรู้ตัวเองว่าเป็นคนที่คิดมากอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรต้องให้ได้ดั่งใจตามที่หวังและชอบโทษตัวเองอยู่เสมอเมื่อทำผิดพลาดในสิ่งต่างๆ แต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมเจอกับความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง (ไม่ว่าจะเป็นอาการที่คาดไม่ถึง หรือโอกาสที่นับไม่ถ้วนที่ต้องหลุดลอยออกไป) มากจนทำให้ผมรู้จักคำๆนึงที่มีชื่อว่า “ปล่อยวาง”

คำว่า “ปล่อยวาง” ทำให้ผมดีใจกับทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลมา ผมดีใจกับการกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป ความลำบากก็เหมือนเป็นสีสันของชีวิตเหมือนคอยเตือนว่าเรายังมีชีวิตอยู่ซะมากกว่า เมื่อผมเจอเหตุการณ์เครียดๆหรือลำบากๆ ผมก็แค่บอกกับตัวเองว่า “แล้วยังไงละ ก็ยังแข็งแรงอยู่ก็พอละหนิ” ในบางครั้งผมยังยิ้มออกมาเวลาที่ตัวเองเครียดๆ โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปครับ

 ผม ... รู้ว่าสุขภาพนั้นไม่ยั่งยืน

            อย่างที่ผมเคยเล่าไปว่าผมเป็นคนที่อาจจะไม่ใช่คนที่แข็งแรงแบบนักกีฬา แต่ผมก็เล่นกีฬาออกกำลังกายบ้างในระดับคนทั่วไป ไม่สูบบุหรี่ ไม่ทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่ติดเหล้า ไม่เคยล้มป่วยถึงขนาดนอนโรงพยาบาลมาก่อนตั้งแต่เกิดมา แต่พอผมเจอเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงการที่ตามองไม่เห็นเป็นเวลาเกือบสองเดือน ผมรู้ว่าผมควรจะถนอมร่างกายให้มากกว่านี้เพื่อทำให้ผมยังสามารถดำเนินชีวิตอย่างที่ชอบต่อไปได้

ผมเคยได้ยินแต่คนรอบข้างของผมพูดว่า “คนเราไม่ป่วยหรือตายง่ายๆหรอก ทำงานหรือเที่ยวเล่นโต้รุ่งเป็นเรื่องปกติไป” (ผมเชื่อว่าหลายๆคนยังคิดแบบนั้นอยู่เพราะว่าแต่ก่อนผมก็เป็นเหมือนกัน) ผมปรับแนวคิดนี้ใหม่แล้วหันมาใส่ใจให้กับตัวเองมากขึ้นแทนครับ

            ผมเลือกที่จะพักเมื่อตัวเองเหนื่อยและเลือกที่จะไม่ฝืนตัวเอง ถ้าหากล้มป่วยอีกครั้งสิ่งที่กำลังทำอยู่จะล้มพังระเนระนาดลงมาและจะแย่ยิ่งกว่าถ้าหากผมไม่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบต่อไป

ผม ... รู้จักวิธีการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

            ผมได้เรียนรู้ว่าผมต้องให้รางวัลกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่ามันเป็นที่มาของนิสัยหลายๆอย่างที่เปลี่ยนไป ผมเริ่มนิสัยที่จะแบ่งเวลาเพื่อมาเล่นหรือทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เพื่อให้สบายใจมากที่สุด ผมฉลองกับสิ่งเล็กๆน้อยๆทุกสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นหลังสอบเสร็จหรือแม้แค่หลังส่งการบ้าน ผมเรียนรู้ที่จะหาความสุขให้กับตัวเองด้วยวิธีต่างๆ

            แม้ว่าอาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเสียเท่าไร เพราะการใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นในช่วงที่ใกล้เดทไลน์ หลายๆคนอาจจะมองว่าผมไม่ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำอยู่ แต่ในตอนนี้ผมมองว่าการใช้ชีวิตอยู่เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่งานยุ่งสุดๆ ผมเลือกที่จะวางงาน การบ้านหรือธุระต่างๆ และมาเติมความสุขให้กับตัวเองเป็นประจำมากกว่า

ผม ... มีเพื่อนและคนรอบข้างที่ใครๆต้องอิจฉา

เคยได้ยินคำกล่าวนี้มั้ยครับ “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” พวกเราต่างโดนสอนมาด้วยบทเรียนเดียวกันตั้งแต่เด็ก แต่มันกลับกันครับ เพื่อนๆทุกคนห่วงใยและคอยช่วยเหลือผมทุกๆอย่างจนกระทั่งผมหายป่วยเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจจากทุกทาง หรือการช่วยเหลือต่างๆรวมไปถึงการมาเยี่ยม ซื้อขนมของกินมาฝาก เป็นเพื่อนพูดคุยทุกๆช่องทาง เวลาผมต้องนอนเหงาและเบื่ออยู่ในโรงพยาบาล (ทุกๆข้อความของเพื่อนๆช่วยให้ผมผ่านความยากลำบากทั้งหมดมาได้จริงๆครับ) จากเพื่อนที่แทบจะไม่เคยคุยกันยังติดต่อมาหา มาเข้าเยี่ยมและบางคนถึงกับกลายเป็นเพื่อนสนิทยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ถ้าหากว่าคำกล่าวข้างต้นเป็นจริง ผมก็คงเป็นคนที่โชคดีสุดๆ เพราะผมไม่เห็นว่าเพื่อนตายจะหายากกว่ายังไงเลยครับ

เก็บตก...ไม่รู้จะเล่าตรงไหนดี

1.      ตั้งแต่ผมเข้าโรงพยาบาลผมน้ำหนักลดไป 13 กิโลได้ แต่มันก็เพิ่มขึ้น 5 กิโลภายในห้าวันที่ผมออกจากโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายแม้ว่าผมจะลดปริมาณการกินลง และสุดท้ายมันก็กลับมาเท่าเดิมภายในหนึ่งเดือน ผมจึงเข้าใจว่าการอดอาหารไม่น่าจะทำให้คนอย่างผมผอมลงได้ ถ้าหากไม่สามารถอดอาหารได้อย่างตลอดไป

2.      ผมนับถือคุณหมอและพยาบาลทุกคนมาก ตลอดหกเดือนที่อยู่ที่โรงพยาบาล ผมนับได้ว่าวันที่ผมไม่เจอคุณหมอ ไม่เกินสิบวันแน่นอนครับ รวมไปถึงช่วงวันหยุดยาวของญี่ปุ่น (โกลเด้นวีค) บางวันท่านมาแต่เช้าตั้งแต่หกโมง บางวันสามสี่ทุ่มผมก็ยังเห็นคุณหมอท่านทำงานอยู่ และที่สำคัญสิบวันที่ผมไม่ได้เจอคุณหมอนั้นผมทราบมาว่า คุณหมอท่านไปตรวจที่โรงพยาบาลอื่นด้วยซ้ำไป ผมเองเคยถามคุณหมอว่า ”ไม่มีวันหยุดบ้างหรือครับ” คุณหมอท่านตอบกลับมาว่า “ก็มีคนไข้ที่ต้องดูแลนะสิ”

3.      ผมได้รู้จักเพื่อนต่างวัยที่มีอายุห่างจากผมเกือบสี่เท่าตัว คุณลุงที่ป่วยเป็นโรคเดียวกัน(แต่คนละประเภท) ได้เป็นเพื่อนพูดคุยกันในช่วงเดือนสุดท้าย ก่อนคุณลุงแกจะถูกย้ายไปห้อง”ฆ่าเชื้อโรคในเวลาต่อมา ทำให้ผมรู้สึกว่าการพูดคุยกับผู้ป่วยโรคเดียวกันนั้นทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจที่ดีขึ้นมาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ผมตัดสินใจมาเขียนเล่าบันทึกนี้ขึ้นมาครับ

EDIT:
4.  หลังจากผมทำเคมีบำบัด จากผมขาวที่เคยมีอยู่เนื่องจากพันธุกรรมตั้งแต่ชั้นประถมได้หายไปจนเกือบหมด รวมไปถึงผิวหน้าใส ไร้สิวมาเกือบๆสองปี เป็นข้อดีที่แปลกเหมือนผมได้รีเซ็ทตัวเองใหม่ประมาณนั้นก็ว่าได้ครับ ตอนที่เส้นผมเริ่มขึ้นมาใหม่ๆ เส้นผมนั้นเหมือนผมเด็กๆนุ่มและหยิก ซึ่งตรงกันข้ามกับแต่ก่อนที่เป็นเส้นใหญ่และแข็ง

สุดท้ายนี้ผมได้ค้นพบสิ่งสำคัญอีกอย่างจากอาการป่วยนี้ครับ นั่นคือผมสนุกกับการเล่าเรื่องมากและดีใจมากที่มีคนคอยอ่านและติชมเรื่องของผม ไม่ว่าจากช่องทางใดก็ตาม ถ้าหากผมไม่ได้ล้มป่วยผมอาจจะไม่มีเรื่องมาเล่าหรือ ไม่มีคนที่จะอ่านเรื่องของผมด้วยซ้ำไป ผมหวังว่าจะยังมีคนคอยติดตามอ่านเรื่องต่อๆไปที่ผมจะเล่าในอนาคตนะครับ

ถ้าหากถูกใจเรื่องของผม หรืออยากพูดคุยก็เชิญทักผ่าน Twitter ผมได้ที่ด้านขวามือ หรือที่ @zeal_cc ครับผมจะเร่งมือเขียนบทความออกมาใหม่เรื่อยๆ ถ้าหากไม่ถูกใจหรืออยากติชมใดๆ ก็เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ ทุกคอมเม้นท์มันจะเด้งเข้ามาที่เมลล์ผม

.........ขอบคุณมากครับ.........

แถมครับ
ผมขอแนะนำบทความหนึ่งที่เป็นอีกแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาเล่าถึงเรื่องของตัวเองนี้ ถ้าหากท่านไม่เคยอ่านหรือได้ยินบทความที่มีชื่อว่า “Top Five Regrets of the Dying” บทความนี้เป็นบทความที่ดีมากบทความหนึ่งครับ (ผมได้อ่านหลังจากดู TED Talk ของ Jane McGonigal)โดยบทความเล่าถึงความปรารถนาห้าข้อของผู้ป่วยที่ใกล้ตาย ถ้าหากท่านใดสนใจอ่านเพิ่มเติมเชิญได้ที่ลิงค์ด้านล่างครับ