เคยมั้ยครับคิดว่างานบางอย่างไม่เห็นจะยากเท่าไร แต่พอลงมือทำจริงๆกลับยากกว่าที่คิดไว้เยอะ ครั้งนี้ผมพยายามที่จะแปลบทความก่อนหน้านี้ของตัวเองให้เป็นภาษาอังกฤษเพราะว่าอยากให้เพื่อนๆต่างชาติได้อ่านเหมือนกันบ้าง แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย ทั้งกินเวลามากกว่าจะแปลสิ่งที่เขียนไว้เป็นภาษาไทย แถมยังไม่สามารถสื่อความหมายที่ต้องการจะสื่อได้อย่างที่ตั้งใจอีกด้วย
ขณะเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมเคยได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครล่ามแปลภาษาอยู่ระหว่างเรียนมาสองครั้งด้วยกัน ทั้งแปลระหว่างภาษาไทยกับญี่ปุ่น และแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น อีกทั้งได้ลงเรียนวิชาฝึกหัดล่ามในตอนปีสุดท้ายด้วยซ้ำไป
อีกครั้งที่ผมก็ยังเป็นแค่ล่ามมือสมัครเล่น เป็นเป็ดที่ว่ายน้ำไม่ได้เก่งเท่าปลา เป็นเป็ดที่บินขึ้นได้ไม่สูงเท่านก เป็นเป็ดที่ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านล่ามอาชีพโดยตรง ถ้าหากมีความผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมาล่วงหน้าด้วยครับ
ถ้าถามว่าการแปลภาษามันยากยังไง ก็ต้องบอกว่าอย่างแรกเลยคือภาษาแต่ละภาษามีความแตกต่างในตัวของมัน คำบางคำก็มีความหมายที่ไม่สามารถแปลตรงตัวเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ (จนถึงบัดนี้ยังมีคำที่ผมใช้ประจำในภาษาญี่ปุ่นแต่ผมยังไม่สามารถแปลออกเป็นคำภาษาไทยได้ด้วยซ้ำไป) นี่ยังไม่นับวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในแต่ละประเทศที่ยากจะแปลออกมาได้
ยกตัวอย่างเช่น ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “โอะซึคาเระ” คำนี้แปลเป็นไทยตรงตัวได้ว่า “เหนื่อยหน่อยนะครับ” อาจจะดูเป็นคำไม่มีอะไรในภาษาไทย แต่ภาษาญี่ปุ่นเป็นคำเชิงให้กำลังใจ ใช้เวลาทำกิจกรรมเสร็จ (กีฬา, ปาร์ตี้, ฯลฯ) ใช้เวลาคู่สนทนาดูเหนื่อยล้า ใช้ทั้งเวลาพนักงานบอกลากันก่อนกลับบ้านหลังเลิกงาน หรือแม้กระทั่ง ใช้ทักทายหรือเปิดบทสนทนากับเพื่อนร่วมงาน ทั้งยังมีคำที่แตกต่างอย่างระดับความสุภาพของสรรพนามและอื่นๆอีกมากมายอีกด้วย
นอกเหนือจากนั้นในกรณีของภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยนั้น การเรียงรูปประโยคแตกต่างกันอย่างได้ชัดเจน ทำให้บางครั้งเวลาแปลตามตัวอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ หลายๆท่านอาจจะเคยทราบโดยคร่าวๆว่าภาษาไทยจะเรียง ประธาน กริยา กรรม แต่ประโยคภาษาญี่ปุ่นจะเรียงเป็น ประธาน กรรม กริยา ยกตัวอย่างเช่น จะพูดว่า “ผมเขียนบล็อก” ต้องพูดว่า “ผมบล็อกเขียน” ในภาษาญี่ปุ่นแทนครับ
เกริ่นมานานละครับ ขอเล่าเรื่องในตอนที่ได้รับโอกาสเป็นล่าม ต้องบอกว่าผมมีความมั่นใจทางด้านภาษาญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง (ในครั้งแรกที่เป็นคือสามปีหลังจากเริ่มใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นแล้ว) แถมตอนที่เป็นล่ามที่ว่าไม่ต้องแปลอย่างเป็นทางการที่ต้องใช้ศัพท์เฉพาะซักเท่าไร
ในวิชาล่ามที่ได้กล่าวไปข้างต้น วิธีโดยที่ผมถูกสอนมาก็คือ
1. หาข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์คร่าวๆไว้ก่อน รวมถึงซ้อมคำที่อ่านยากๆ
2. ให้คว้ากระดาษมาจดคีย์เวิร์ดคำสำคัญๆ ที่จำเป็นจะต้องแปล พยายามแบ่งกระดาษออกเป็นสองฝั่ง (เพื่อให้เขียนได้เยอะ) ใช้ตัวย่อบางคำซ้ำๆ เขียนตัวใหญ่ๆ (ทำให้เขียนได้เร็วกว่าตัวเล็กๆ)
3. ถ้าหากไม่แน่ใจก่อนแปล ต้องถามผู้พูดในแน่ใจ เสียเวลาซักนิดแต่ก็ดีกว่าแปลแบบผิดๆไป
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือ พยายามมีสติให้รู้ว่าเราต้องแปลจากภาษาอะไรเป็นภาษาอะไรอยู่ตลอดเวลาครับ ผมเคยเจอเหตุการณ์หนึ่ง
ครั้งหนึ่งผมเป็นล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นผมล้าหรือว่าอย่างไร ผมหันไปพูดประโยคที่ผมต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษแต่กลับพูดภาษาญี่ปุ่นตรงๆตัวไปเฉยๆ
จนท่านหัวเราะและเตือนผมกลับมาว่า “Can you switch your mode? I cannot understand Japanese.”
และเหตุการณ์ในกรณีคล้ายกันนี้เกิดซ้ำอีกหลายครั้ง แม้แต่ในชีวิตประจำวันโดยบ่อยครั้งผมพูดภาษาอังกฤษแต่ยังใช้ศัพท์บางคำเป็นภาษาญี่ปุ่นในประโยค หรือแม้แต่ภาษาไทยผสมกับภาษาอื่นๆ
ผมเองก็แอบหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสขัดเกลาความสามารถด้านนี้ให้ลื่นไหลไปเหมือนใช้วุ้นแปลภาษาของโดราเอมอน เพื่ออนาคตของตัวเอง ไว้ใช้ในการติดต่องานหรือว่าแปลหนังสืออ่าน
No comments:
Post a Comment