Monday, August 26, 2013

อะไรคือ Privacy ใครจะไปสนใจ [What is the ‘Privacy’ and who cares?]



มาต่อกันอีกตอนนะครับว่าทำไมเราต้องมาสนใจด้วยหละ ใครอยากรู้ก็รู้ไปสิครับ ดีซะอีกได้โฆษณาที่น่าสนใจและเกี่ยวกับเรากว่าเดิม

ถ้าถามว่าทำไมเราต้องสนใจมันด้วยหละ ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกฏหมาย ผมขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งนะครับ

สมมติว่าสมชายวางแผนที่จะขอแต่งงานกับสมหญิง อยากจะวางแผนเซอร์ไพร์สให้โดยการค้นหาร้านอาหาร ดูราคาแหวนหรือของขวัญต่างๆ ออกปากชวนเพื่อนๆมาเป็นสักขีพยานเรียบร้อย ทุกคนทำตามแผนด้วยดี แต่ทว่าสมหญิงบังเอิญไปเห็นในเพจร้านอาหารหรูที่สมชายโพสถามโปรโมชั่น หรือเอาง่ายๆเพื่อนที่สมชายชวนไปดูทำเลร้าน Tag ชื่อสมชายเข้าไปใน Foursquare

ย้อนกลับมาถามว่าที่สมชายทำไปหลายๆอย่างเป็นเรื่องเสียหายหรือไม่ แล้วการที่สมหญิงรู้ข้อมูลหลายๆอย่างรวมกันเป็นเรื่องร้ายแรงรึเปล่า ก็ขอให้เก็บไปคิดเอาดูนะครับว่าความเป็นส่วนตัวในกรณีนี้เป็นยังไงบ้าง

นอกเหนือจากนั้น กรณีบางเรื่องอาจจะไม่จบแค่ที่ว่าสมหญิงไม่เซอร์ไพรส์ อาจจะเกิดเรื่องเวอร์ๆอย่างเช่น มิจฉาชีพเห็นลู่ทางที่ว่าสมชายต้องมาร้านอาหารพร้อมแหวนเพชรมีค่าอยู่อาจจะดักปล้นสมชายเพื่อแย่งชิงแหวนบริเวณใกล้ๆ ร้านอาหาร หรืออื่นๆไป (ทุกอย่างเป็นแค่เรื่องสมมตินะครับ)

เท่าที่ผมทราบมาไม่ว่าจะเป็นการสมัครงานในต่างประเทศต่างๆ บริษัทจะลองเสิร์ชข้อมูลเพื่อให้รู้จักเรามากขึ้นมากกว่าเดิม ลองคิดดูสิครับถ้าหากบริษัทเสิร์ชชื่อคุณในทวิตเตอร์แล้วเจอแต่ทวีตที่คุณเอาแต่บ่นหรือตำหนิบริษัทก่อนหน้า หรือหากรูปเฟสบุ้คของคุณเป็นรูปประหลาดๆ คุณอาจจะตกรอบไปตั้งแต่ยังไม่ได้มีโอกาสอ้าปากแสดงความสามารถในห้องสัมภาษณ์เลยก็ว่าได้ครับ

ยิ่งในยุคสมัยนี้ข้อมูลยิ่งเพิ่มมาขึ้นได้ตลอดเวลา ข้อมูลจากโทรศัพท์หรือแม้แต่อุปกรณ์วัดการเผาผลาญหรือนับจำนวนก้าวเดินก็ทำให้เราเหมือนถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ ไม่ว่าเราจะเดินไปไหนมาไหน ถ้าหากรู้วิธีก็สามารถตามหาพวกเราในยุคสมัยนี้ได้ไม่ยากเย็นมากนัก เพราะฉะนั้นคุณคิดว่าคุณควรจะหันมาสนใจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของคุณรึเปล่าครับ

สุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไป ผมสังเกตุจากเพื่อนๆผมและผมคิดว่าหลายๆคนไม่ทราบว่า Facebook มีฟังก์ชั่นที่จะจำกัดข้อมูลให้แค่กลุ่มเพื่อนบางกลุ่มสามารถเห็นโพสแต่ละโพสของเราอย่างแตกต่างกันได้ด้วย อย่างเช่นผมเองจัดกลุ่มเพื่อนคนต่างชาติไว้อีกกลุ่มหนึ่ง และเวลาโพสภาษาไทยก็ไม่ให้พวกเขาได้เห็นโพสเพื่อนเห็น

ฟังก์ชั่นนี้มีประโยชน์มากเลยนะครับ คนรู้จักผมบางคนถึงกับต้องสมัครหลายๆไอดีเพื่อแยกแยะเพื่อนที่ทำงานกับเพื่อนสนิท แต่ความจริงคือคุณก็สามารถควบคุมมันได้ด้วยฟังก์ชั่นดังกล่าวที่ว่านี้ได้นะครับ ลองเสิร์ชหาข้อมูลและวิธีการใช้ดูครับ

ไว้ตอนต่อไปผมจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดักฟังหรือ Wiretap ต่อให้นะครับ หากท่านได้สนใจเชิญมาติดตามตอนต่อไปได้สัปดาห์หน้าครับ สุดท้ายนี้ถ้าหากท่านใดอยากจะอ่านเกี่ยวกับการรักษาความเป็นส่วนตัวเพิ่มเติม ผมแนะนำลิงค์ด้านล่างนี้ดูได้ครับ


ปล. บางท่านอาจจะได้ยินมาว่าต่างประเทศหรือผ่านทางหนังว่ารัฐบาลประเทศอย่างอเมริกาสามารถสอดส่องข้อมูลได้อย่างปกติทั่วไป เรื่องนี้ผมขอไม่ออกความเห็นครับ เพราะว่าไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจัง แต่คาดว่าอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างสูง แม้ว่าข้อความจะเข้ารหัสอยู่ก็เถอะครับ

Saturday, August 24, 2013

อะไรคือ Privacy ทำไมถึงมีคำนี้ได้ [What is the ‘Privacy’ and why does it exist?]


            เนื่องด้วยข่าวที่ผมอ่านในช่วงไม่นานมานี้ รัฐบาลของไทยออกมากล่าวว่า “จะสอดแนมอ่าน Line ของทุกคนได้” เป็นเหตุให้น่าฉุกคิดเรื่องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวหรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า ‘Privacy’ นี่เองครับ อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนหน้านี้ หัวข้ออย่าง Privacy ก็เป็นหนึ่งในสาขาของ Security เช่นกันเหมือนกันครับ และผมกำลังทำการค้นคว้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้อยู่เช่นกัน จึงอยากจะเขียนเล่าในเชิงเนื้อหาดูบ้าง


             ก่อนจะเล่าเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ผมขอแสดงความเห็นจากมุมมองกับข่าวข้างต้นที่ว่านี้หน่อยนะครับ ปกติแล้วการกระทำข้างต้นน่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เหตุผลมีสองประการใหญ่ๆครับ

ข้อแรก ข้อความทั้งหมดในแอพพลิเคชั่นอย่าง Line ถูกเข้ารหัสไว้ระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน แม้ว่าทางประเทศไทยจะควบคุมข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตได้ ถ้าหากไม่มีรหัสอย่างถูกต้องก็ไม่น่าจะสามารถอ่านข้อความได้ครับ

ข้อสอง ตามปกติแล้วบริษัทในบริการต่างๆในอินเคอร์เน็ต Social Network จะไม่ยอมเผยแพร่ข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โดยเด็ดขาด นอกเสียจากว่ามีหมายศาล ซึ่งในเหตุการณ์คล้ายๆกันนี้โครงการ PRISM ของอเมริกาก็ถูกบริษัทดังๆออกมาประกาศว่ารัฐบาลไม่สามารถล็อกอินอ่านข้อมูลได้ง่ายๆเหมือนกับดังที่โครงการกล่าวไว้ (ส่วนใหญ่จะถูกระบุไว้ใน Privacy Policy ของแต่ละบริษัทแล้ว)

รวบรวมข้อมูลมาทั้งสองข้อก็ยิ่งบ่งบอกได้ว่าเป็นไปได้ยากครับ ยิ่งบริษัทอย่าง Line ไม่ใช่บริษัทภายใต้การควบคุมของประเทศไทยเสียอีก หรือคาดว่าถ้าหากเกิดขึ้นจริงคนไทยก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมอื่นแทน ทำให้รัฐบาลก็คงต้องเดินเรื่องอีกครั้ง (ภายหลังผมได้เห็นข่าวที่ทางบริษัทออกมาประกาศว่ารัฐบาลต้องมีหมายศาลของประเทศญี่ปุ่นก่อนถึงจะสามารถอ่านข้อมูลดังที่กล่าวได้)

ออกนอกหัวข้อไปพอสมควรกลับมาที่ความเป็นส่วนตัวดีกว่าครับ ความเป็นส่วนตัวที่ว่าคือข้อมูลเกี่ยวกับพวกเราๆ ผู้ใช้บริการทั่วๆไปเนี่ยแหละครับ ทั้งข้อมูลการใช้จ่ายซื้อของ, การค้นหาข้อมูล, โซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ฯลฯ ในกรณีส่วนใหญ่ที่บริษัทต่างๆรวบรวมข้อมูลก็เพื่อเหตุผลเดียวคือผลประกอบการทางธุรกิจนั่นเองครับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ว่าบริษัทสามารถรู้ว่าคุณชอบดูบอล ไม่เคยพลาดทุกแมตซ์ในหนึ่งฤดูกาลของทีมอย่างเชลซี ผ่านข้อมูลอย่างเช่นการซื้อของที่ระลึกเชลซีผ่านอีเบย์, ข้อมูลเสิร์ชการจองตั๋ว หรือคุณกดไลค์รูปที่โพสเรื่องเชลซีหรือรีทวีตเกี่ยวกับเชลซี

พอบริษัทจะออกสินค้าเพื่อมาล่อใจให้คุณซื้อก็จะส่งโฆษณาแคมเปญอย่างเช่น เติมน้ำมันวันนี้ได้ลุ้นเชียร์เชลซีติดขอบสนามมาให้คุณ เวลาคุณเล่นเน็ตไปตามเว็ปต่างๆ

ถ้าเทียบกับคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะได้โฆษณาผ้าอ้อมแบบใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสลับตำแหน่งกัน คุณก็จะเลื่อนผ่านๆไปโดยที่บริษัทจะเสียค่าโฆษณาไปโดยใช่เหตุนั่นเองครับ เนื่องจากตอนเดียวอาจจะยาวผมขอตัดไปอีกตอนพรุ่งนี้ต่อแทนนะครับ

Monday, August 5, 2013

ฮาจิเมะมาชิเตะ ไอแอมยัวร์ล่าม [Hajimemashite, I am your La-am (ล่าม) ]

            เคยมั้ยครับคิดว่างานบางอย่างไม่เห็นจะยากเท่าไร แต่พอลงมือทำจริงๆกลับยากกว่าที่คิดไว้เยอะ ครั้งนี้ผมพยายามที่จะแปลบทความก่อนหน้านี้ของตัวเองให้เป็นภาษาอังกฤษเพราะว่าอยากให้เพื่อนๆต่างชาติได้อ่านเหมือนกันบ้าง แต่มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย ทั้งกินเวลามากกว่าจะแปลสิ่งที่เขียนไว้เป็นภาษาไทย แถมยังไม่สามารถสื่อความหมายที่ต้องการจะสื่อได้อย่างที่ตั้งใจอีกด้วย

ขณะเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมเคยได้มีโอกาสเป็นอาสาสมัครล่ามแปลภาษาอยู่ระหว่างเรียนมาสองครั้งด้วยกัน ทั้งแปลระหว่างภาษาไทยกับญี่ปุ่น และแปลระหว่างภาษาอังกฤษกับญี่ปุ่น อีกทั้งได้ลงเรียนวิชาฝึกหัดล่ามในตอนปีสุดท้ายด้วยซ้ำไป  

อีกครั้งที่ผมก็ยังเป็นแค่ล่ามมือสมัครเล่น เป็นเป็ดที่ว่ายน้ำไม่ได้เก่งเท่าปลา เป็นเป็ดที่บินขึ้นได้ไม่สูงเท่านก เป็นเป็ดที่ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านล่ามอาชีพโดยตรง ถ้าหากมีความผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมาล่วงหน้าด้วยครับ



ถ้าถามว่าการแปลภาษามันยากยังไง ก็ต้องบอกว่าอย่างแรกเลยคือภาษาแต่ละภาษามีความแตกต่างในตัวของมัน คำบางคำก็มีความหมายที่ไม่สามารถแปลตรงตัวเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ (จนถึงบัดนี้ยังมีคำที่ผมใช้ประจำในภาษาญี่ปุ่นแต่ผมยังไม่สามารถแปลออกเป็นคำภาษาไทยได้ด้วยซ้ำไป) นี่ยังไม่นับวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในแต่ละประเทศที่ยากจะแปลออกมาได้

ยกตัวอย่างเช่น ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า “โอะซึคาเระ” คำนี้แปลเป็นไทยตรงตัวได้ว่า “เหนื่อยหน่อยนะครับ” อาจจะดูเป็นคำไม่มีอะไรในภาษาไทย แต่ภาษาญี่ปุ่นเป็นคำเชิงให้กำลังใจ ใช้เวลาทำกิจกรรมเสร็จ (กีฬา, ปาร์ตี้, ฯลฯ) ใช้เวลาคู่สนทนาดูเหนื่อยล้า ใช้ทั้งเวลาพนักงานบอกลากันก่อนกลับบ้านหลังเลิกงาน หรือแม้กระทั่ง ใช้ทักทายหรือเปิดบทสนทนากับเพื่อนร่วมงาน ทั้งยังมีคำที่แตกต่างอย่างระดับความสุภาพของสรรพนามและอื่นๆอีกมากมายอีกด้วย

นอกเหนือจากนั้นในกรณีของภาษาญี่ปุ่นกับภาษาไทยนั้น การเรียงรูปประโยคแตกต่างกันอย่างได้ชัดเจน ทำให้บางครั้งเวลาแปลตามตัวอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ หลายๆท่านอาจจะเคยทราบโดยคร่าวๆว่าภาษาไทยจะเรียง ประธาน กริยา กรรม แต่ประโยคภาษาญี่ปุ่นจะเรียงเป็น ประธาน กรรม กริยา ยกตัวอย่างเช่น จะพูดว่า “ผมเขียนบล็อก” ต้องพูดว่า “ผมบล็อกเขียน” ในภาษาญี่ปุ่นแทนครับ

เกริ่นมานานละครับ ขอเล่าเรื่องในตอนที่ได้รับโอกาสเป็นล่าม ต้องบอกว่าผมมีความมั่นใจทางด้านภาษาญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง (ในครั้งแรกที่เป็นคือสามปีหลังจากเริ่มใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นแล้ว) แถมตอนที่เป็นล่ามที่ว่าไม่ต้องแปลอย่างเป็นทางการที่ต้องใช้ศัพท์เฉพาะซักเท่าไร

ในวิชาล่ามที่ได้กล่าวไปข้างต้น วิธีโดยที่ผมถูกสอนมาก็คือ
1.      หาข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์คร่าวๆไว้ก่อน รวมถึงซ้อมคำที่อ่านยากๆ
2.      ให้คว้ากระดาษมาจดคีย์เวิร์ดคำสำคัญๆ ที่จำเป็นจะต้องแปล พยายามแบ่งกระดาษออกเป็นสองฝั่ง (เพื่อให้เขียนได้เยอะ) ใช้ตัวย่อบางคำซ้ำๆ เขียนตัวใหญ่ๆ (ทำให้เขียนได้เร็วกว่าตัวเล็กๆ)
3.      ถ้าหากไม่แน่ใจก่อนแปล ต้องถามผู้พูดในแน่ใจ เสียเวลาซักนิดแต่ก็ดีกว่าแปลแบบผิดๆไป

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือ พยายามมีสติให้รู้ว่าเราต้องแปลจากภาษาอะไรเป็นภาษาอะไรอยู่ตลอดเวลาครับ ผมเคยเจอเหตุการณ์หนึ่ง

ครั้งหนึ่งผมเป็นล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นผมล้าหรือว่าอย่างไร ผมหันไปพูดประโยคที่ผมต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษแต่กลับพูดภาษาญี่ปุ่นตรงๆตัวไปเฉยๆ

จนท่านหัวเราะและเตือนผมกลับมาว่า “Can you switch your mode? I cannot understand Japanese.

และเหตุการณ์ในกรณีคล้ายกันนี้เกิดซ้ำอีกหลายครั้ง แม้แต่ในชีวิตประจำวันโดยบ่อยครั้งผมพูดภาษาอังกฤษแต่ยังใช้ศัพท์บางคำเป็นภาษาญี่ปุ่นในประโยค หรือแม้แต่ภาษาไทยผสมกับภาษาอื่นๆ

ผมเองก็แอบหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสขัดเกลาความสามารถด้านนี้ให้ลื่นไหลไปเหมือนใช้วุ้นแปลภาษาของโดราเอมอน เพื่ออนาคตของตัวเอง ไว้ใช้ในการติดต่องานหรือว่าแปลหนังสืออ่าน