สวัสดีครับ ช่วงนี้ผมเริ่มกลับมายุ่งๆอีกครั้ง บล็อกก็เลยต้องผลัดวันประกันพรุ่งไปหลายต่อหลายครั้ง
ครั้งที่แล้วผมบอกไว้ว่าจะมาเล่าเรื่องการดักฟัง แต่ขอเปลี่ยนใจกระทันหันมาพูดถึงนิสัยที่แก้ไม่หายของมนุษย์เราแทนก่อนนะครับ
ถ้าแปลเป็นไทยได้ก็ไม่น่าจะห่างไกลกับคำว่า “มักง่าย” ซักเท่าไร ถ้าจะเรียกให้ดูดีขึ้นมาหน่อยคือความอยากชั่ววูบละกันครับ
ถ้าถามว่านิสัยที่ว่านี้มีข้อเสียยังไง
ผมจะขอเก็บไว้ตอบด้านท้ายของบทความนี้ละกันนะครับ
ก่อนอื่นลองมาดูตัวอย่างที่เราเห็นกันอย่างชัดๆก่อนเลยครับ
ตัวอย่างแรกคือบัตรเครดิตครับ
หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าเกี่ยวยังไง แต่ Dan Ariely ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชื่อ
“Predictably Irrational” หรือชื่อภาษาไทยว่า “พฤติกรรมพยากรณ์”
ได้กล่าวถึงรายงานวิชาการเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้บัตรเครดิตซื้อของกับการใช้เงินสดซื้อของอย่างเดียวกัน
พบว่าคนที่ใช้บัตรเครดิตจะจับจ่ายใช้สอยมากกว่า [1] (หากใครสนใจผมแนบเปเปอร์ไว้ที่ด้านล่างของบทความละครับ)
บัตรเครดิตเป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนิสัยนี้
คนเราก็ซื้อของที่อยากได้โดยไม่ได้คิดมากซักเท่าไร แล้วค่อยมาปวดหัวอีกทีตอนใบแจ้งหนี้ถูกส่งมาที่หน้าบ้าน
ยิ่งในเคสของคนที่อยู่ในอเมริกาอาจจะหนักกว่าคนไทยหลายเท่าเพราะว่าบัตรเครดิตถูกใช้ซื้อของเกือบๆทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น
จ่ายค่ามิเตอร์จอดรถ, ซื้อกาแฟในสตาร์บัค ฯลฯ
ลองมาดูตัวอย่างถัดไปอันยอดฮิตที่ผมว่าหลายๆคน
(รวมทั้งผมด้วย) ต้องเคยทำ นั่นคือการผลัดวันประกันพรุ่งหรือภาษาอังกฤษที่ว่า “Procrastination” นั่นเองครับ
ตัวอย่างนี้คงไม่ต้องคิดอะไรมาก มนุษย์เราก็แค่อยากจะสนุก อยากจะสบายก่อนที่เจอกับความลำบาก
เท่าที่ผมทราบมาว่าวิธีแก้ก็คงไม่พ้นจากให้มองความสุขหลังจากที่เราทำงานนั้นๆเสร็จ
แล้วเริ่มทำงานซะ ดีกว่าที่จะไปมองว่างานนั้นยุ่งยากแล้วผลัดไปทีหลังแทนนะครับ
ตัวอย่างสุดท้ายที่ผมจะยกขึ้นมาคือ
Privacy กับ Security
ครับ ช่วงนี้ผมต้องขออนุญาตวกวนอยู่ที่สองหัวข้อนี้บ่อยหน่อยนะครับ
เพราะว่ากำลังทำวิทยานิพนธ์ในด้านนี้อยู่
ไอเดียส่วนใหญ่ที่ได้มาเขียนบล็อกก็วนไปมาอยู่แถวๆนี้เท่านั้นแหละครับ
เวิ่นเว้อมาอยู่นานขอวกกลับมาที่ตัวอย่างนะครับ
คนเราส่วนใหญ่นั้นไม่ค่อยให้ความปลอดภัยด้านข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัวของตัวเองซักเท่าไร
อย่างเช่นตั้งรหัสผ่านง่ายๆ หรือแม้แต่การไม่ลงทุนเงินงบประมาณในระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัท
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่มีความเสียหายแล้วค่อยมาเครียด
ถ้าเรียกเป็นสำนวนไทยก็ต้องบอกว่า “วัวหายล้อมคอก”
แต่ในตัวอย่างที่ว่านี้ดูค่อนข้างจะอันตรายและอาจจะส่งผลยาวนานกว่าแค่วัวฝูงหนึ่งที่หายวับไปเสียอีกครับ
ซ้ำแล้วยังมีงานวิจัยที่ตอกย้ำนิสัยที่แก้ไม่หายนี้ของมนุษย์ด้วยว่า
70 เปอร์เซ็นต์ของผู้รับการทดลองยินดีที่จะแลกรหัสผ่านของคอมพิวเตอร์กับช็อคโกแล็ตหนึ่งแท่ง
[2] ซึ่งความเสียหายอาจจะแผ่เป็นวงกว้างได้ไม่ยากถ้ารหัสผ่านที่ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ของบริษัท
แล้วถ้าคนร้ายหรือเข้าไปในเครือข่ายได้ความเสียหายอาจจะถึงขั้นรุนแรงเลยทีเดียวละครับ
เช่นแพร่กระจายไวรัส หรือเจาะโพรงเครือข่ายไว้โจมตีต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละบริษัทด้วยเช่นกัน
อ่านมาจนถึงตอนนี้แล้วผมคาดว่าผมคงไม่ต้องสรุปถึงข้อเสียต่างๆอย่างที่ได้สัญญาไว้แล้วละสินะครับ
ข้อเสียจากนิสัยนี้มีมากจริงๆครับ
ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายภายหลังด้านข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัว
หรือผลเสียที่คาดไม่ถึงหรือไม่ทันได้คิดอย่างยอดค่าใช้จ่ายบนบัตรเครดิตตอนสิ้นเดือน
หรือว่ากองงานที่สุมหัวเต็มโต๊ะ
สุดท้ายแล้วนิสัยนี้เป็นนิสัยที่ยากจะแก้ได้
แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ไม่ได้ซะทีเดียวนะครับ ลองค่อยๆปรับค่อยๆแก้กันไป
น่าจะมีอะไรดีขึ้นแหละครับ ลองที่จะเปลี่ยนรหัสผ่านให้มันปลอดภัยขึ้น,
ทยอยๆทำงานที่ค้างไว้ หรือคิดก่อนจับจ่ายใช้สอยดูครับ
วันนี้ขอลาไว้เท่านี้ก่อนละครับ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านนะครับ
ก่อนจากไปคุณคิดยังไงกับเรื่องลดภาษีรถคันแรกบ้างครับ
หรือมีตัวอย่างดีๆอื่นๆเกี่ยวกับนิสัยนี้ ลองคอมเม้นท์ให้ความเห็นกันมาดูได้ครับ
References
[1]
|
B. News, "Passwords
revealed by sweet deal," BBC News, 20 April 2004. [Online]. Available:
http://news.bbc.co.uk/2/hi/technology/3639679.stm. [Accessed 11 September
2013].
|
[2]
|
E. Magen, C. S. Dweck and
J. J. Gross, "The Hidden-Zero Effect: Representing a Single Choice as
an Extended Sequence Reduces Impulsive Choice," Psychological
Science, vol. 19, no. 7, pp. 648-649, 2008.
|